ประเภทของภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมประเภทต่างๆ
คำว่า ดีเมนเชีย (dementia) หรือ ภาวะสมองเสื่อม อาจจะไม่ใช่คำที่คุ้นเคยของใครหลายๆคน แต่ถ้าเราพูดถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) น่าจะเป็นชื่อโรคที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และน่าจะสร้างความกังวลไม่มากก็น้อยเมื่อเราพูดถึงชื่อของโรคนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว แนวคิดของภาวะสมองเสื่อม หรือ ดีเมนเชีย นั้นเป็นแนวคิดที่รวบรวมเรื่องของอาการของการมีศักยภาพที่ลดลงของสมองและการสูญเสียความทรงจำ
แต่ละคนจะมีประสบการณ์กับภาวะสมองเสื่อมในรูปแบบของตนเองในลักษณะของการเสื่อมของระบบประสาท (neurodegenerative diseases) ซึ่งอัตราการเสื่อมจะขึ้นอยู่กับประเภทของภาวะสมองเสื่อมที่ส่งผลต่อบุคคล ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุหลัก
ในส่วนของความแตกต่างระหว่างภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ถ้าให้พูดให้เข้าใจง่ายๆเหมือนที่อาจารย์สิรินทร ฉันศิริกาญจน (อาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง) ได้อธิบายไว้ก็คือ ดีเมนเชีย (dementia) เปรียบเสมือนมะม่วง และ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) คือสายพันธุ์ของมะม่วง เช่น พันธุ์เขียวเสวย นั่นเอง ประเภทของภาวะสมองเสื่อมนั้น สามารถแบ่งออกด้วยสาเหตุของการเกิดโรคทางสมอง ซึ่งสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม 4 อันดับแรก ได้แก่
1.โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม (60% ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด) ซึ่งจะมีอาการสูญเสียความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ตามลำดับ
2.ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด (Vascular Dementia) มีสาเหตุหลักคือภาวะของสมองที่ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้สมองหยุดทำงานอย่างเฉียบพลัน (15% ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด)
3.โรคเลวี บอดี (Lewy Body Disease) มีสาเหตุหลักจากการมีเลวี บอดี (Lewy bodies) ในสมอง ที่จับกันเป็นก้อนมากผิดปกติ (10% ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด)
4.ภาวะสมองเสื่อมบริเวณส่วนหน้า (Frontotemporal Dementia) มีสาเหตุมาจากเซลล์ประสาทที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้าหรือส่วนด้านข้างที่ตาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วนต่างๆ (5% ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด)
.
ป.ล. นอกเหนือจากสาเหตุหลัก 4 ประการข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของสารสื่อประสาท เช่น โดปามีน หรือโรคฮันติงตัน ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์และส่งผลต่อการเคลื่อนไหว